หลังจาก ‘Harry Potter and the Deathly Hallows’ เล่ม 7 บทอวสานของพ่อมดหนุ่มน้อยออกร่ายเวทมนตร์พร้อมกันทั่วโลก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 นอกจากจะสร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับแฟนๆ ที่รอคอยท่องโลกฮอกวอตส์เป็นวาระสุดท้ายแล้ว ยังทำให้บรรดาสาวก ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ อดที่จะรู้สึกใจหายอยู่ลึกๆ ไม่ได้หลังติดตามอ่านต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานถึง 10 ปีเต็ม นับแต่ เจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K. Rowling) นักประพันธ์หญิงชาวอังกฤษร่ายมนตราสู่สายตานักอ่านเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2540 (1997)
ส่วนในเมืองไทยนั้น เล่มแรก ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์’ ฉบับภาษาไทยเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2543 จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาถึง 7 ปีเต็มที่เรื่องเล่าในโลกจินตนาการชุดนี้ได้สร้างความสนุกสนานให้กับคอนักอ่านชาวไทย จนกระทั่งเดินทางมาถึงตอนจบ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต เล่ม 7 ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงวันที่ 7-9 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สวนเบญจสิริ บรรยากาศคึกคักไปด้วยสาวกพ่อมดหนุ่มน้อย
แน่นอนว่า สุมาลี บำรุงสุข คือบุคคลผู้ริเริ่มเสกคาถาให้กับแฮร์รี่ พอตเตอร์ในเมืองไทยให้โด่งดังจนกลายเป็นกระแสพ่อมดน้อยฟีเวอร์ และต่อไปนี้เป็นการพูดคุยกับผู้จุดประกายจินตนาการให้คนไทยได้มีโอกาสร่วมเดินทางท่องโลกผจญภัยลึกลับไปกับ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ผู้สร้างตำนาน แฮร์รี่ พอตเตอร์ วรรณกรรมเยาวชนแห่งทศวรรษ
>ก่อนหน้ารับงานแปลวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เมื่อเกือบสิบปีก่อนนั้นทำอะไรอยู่
เคยเขียนเรื่องสั้นเด็ก เริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนนั้นทางนิตยสาร ‘สตรีสาร’ ภาคพิเศษมีรายการให้เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แต่งเรื่องขึ้นจากภาพได้ แต่ตอนนั้นดิฉันอายุเกิน 15 ปีไปได้แค่ 2-3 วัน หลังจากที่มีโครงการนี้ออกมาเลยคุยว่าขอได้ไหม ขอให้ตัวเองมีโอกาสได้แต่งเรื่องจากภาพด้วย ซึ่งในขณะนั้น ‘คุณโบตั๋น-สุภา สิริสิงห’ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการอยู่ ได้บอกให้ลองเขียนเรื่องส่งเข้ามาจะดีกว่า จึงลองเขียนเรื่องเด็กส่ง พอเห็นเรื่องสั้นที่ตัวเองเขียนได้ลงตีพิมพ์ก็ปลาบปลื้มใจมาก จึงเขียนเรื่อยมาเป็นตอนๆ จนจบ
หลังจากนั้นทางสตรีสารได้นำมารวมเล่มเป็นเล่มแรกชื่อว่า ‘เรื่องของมาเหมี่ยว’ เล่มที่สองชื่อว่า ‘เรื่องของมาเหมี่ยวและเพื่อน’ และเนื่องจากวรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เป็น 1 ใน 100 เล่มวรรณกรรมที่เยาวชนควรอ่าน จึงมีคนมาขอพิมพ์ให้อยู่เรื่อยๆ ครั้งสุดท้ายทางนานมีบุ๊คส์เป็นผู้จัดพิมพ์ ช่วงนั้นเขียนเรื่องส่งอยู่เรื่อยๆ จนเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงได้เลิกเขียนไปบ้างเพราะเรียนหนัก
พอเรียนจบก็ได้ทำงานวารสารสำหรับเด็ก ‘สวิตา’ อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเรียนต่อปริญญาโทคณะอักษรศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นก็ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ต้องเขียนงานสอนทางวิชาการที่อาศัยการค้นคว้าค่อนข้างมาก เลยทำให้ห่างหายจากการเขียนงานเรื่องสั้นและนวนิยายไปอยู่พักหนึ่ง ตอนนั้นเป็นอาจารย์อยู่ประมาณ 10 ปีก็ลาออกจากราชการติดตามสามีไปทำงานที่เมืองเดอรัม ประเทศอังกฤษ จึงทำให้มีเวลาว่างที่จะกลับมาทำงานเขียนที่ตัวเองรักใหม่อีกครั้ง
>เข้ามาเกี่ยวข้องกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้อย่างไร
ตอนนั้นติดตามสามีไปอยู่ที่เมืองเดอรัม ประเทศอังกฤษ (ตอนนี้อาศัยอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์) ทีนี้ช่วงใกล้คริสต์มาสก็อยากจะหาหนังสือดีๆ ให้หลานอ่าน ช่วงนั้นมีคนบอกว่า ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ อ่านสนุกนะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองเป็นพ่อมด จนกระทั่งอายุ 11 ปี เขาถึงได้รับจดหมายเชิญให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสอนเวทมนตร์ พอได้ฟังก็เอ๊ะ..เนื้อเรื่องมันแปลกดีนะ เลยลองหาซื้อมาอ่านดู พออ่านจบก็รีบส่งไปให้หลานที่อเมริกาทันที เพราะเขาอ่านภาษาอังกฤษออก แล้วก็คิดถึงหลานเมืองไทยที่อายุไล่เลี่ยกัน
คิดว่าถ้าส่งหนังสือมาให้หลานที่เมืองไทย เขาต้องอ่านไม่ออกแน่ๆ จึงเกิดความคิดในการแปลหนังสือขึ้น หลานอีกคนจะได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วย จึงเขียนจดหมายติดต่อมาที่คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ว่ามีหนังสือที่ดีมาก อยากจะขอให้ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทย โดยดิฉันขอเป็นผู้แปลให้ด้วย จากนั้นคุณสุวดีได้ซื้อลิขสิทธิ์ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ มา 3 เล่มด้วยกัน เป็นหนังสือที่ออกมาตั้งแต่ปี 2540-2542 (1997-1999) ตอนที่ไปซื้อลิขสิทธิ์นั้นเป็นปี 2542 แต่กว่าจะแปลและจัดพิมพ์เสร็จพร้อมวางขายในเมืองไทยประมาณกลางปี 2543
ตอนนั้นคุณสุวดีอยากจะให้แปลพร้อมกัน 3 เล่ม หนังสือจะได้ออกมาพร้อมกันทีเดียว แต่ดิฉันอยากให้เป็นสำนวนเดียวกัน จึงอยากจะขอแปลเองโดยสัญญาว่าจะแปลให้ได้อย่างแข็งขัน ปรากฏว่าแปลได้สองเล่มก็เหนื่อยเหลือเกิน ดังนั้นเล่มที่สามจึงมีคุณวลีพร หวังซื่อกุล เป็นผู้แปล เล่มที่ 4 เป็นคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ บรรณาธิการเล่มเป็นผู้แปล ก่อนดิฉันจะกลับมารับช่วงแปลใหม่อีกครั้งในเล่มที่ 5-6-7 ซึ่งตอนที่อ่านภาคภาษาอังกฤษจบ บอกได้คำเดียวว่าสนุกมากเพราะเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยจินตนาการจริงๆ อ่านจบแล้วก็รู้สึกใจหายไปพร้อมๆ กับความรู้สึกประทับใจในเวลาเดียวกัน
>เมื่อตอนเข้ามารับแปลต่อในเล่ม 5 ต้องอ่านย้อนหลังด้วยไหม
ทุกครั้งที่แปลต้องอ่านทวนอยู่แล้ว ดังนั้นพอรู้ตัวว่าจะได้แปลเล่ม 5 ก็อ่านทวนเล่ม 3-4 ก่อนอีกครั้งเป็นการเตรียมตัว ต้องอ่านภาษาอังกฤษเทียบกับภาษาไทย เพราะในแต่ละตอนผู้แปลได้แปลศัพท์ต่างๆ ไว้ให้แล้ว จึงต้องอ่านเทียบกันเพื่อที่จะได้นำชื่อเฉพาะหรือชื่อคาถาต่างๆ ที่แปลไว้แล้วขึ้นมาใช้ได้ตรงกัน
>ในฐานะผู้แปลตั้งแต่แรกจนกระทั่งถึงเล่มสุดท้าย มองว่าอะไรคือจุดเด่นของวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้
เด่นๆ ก็เห็นมีอยู่ 4 ข้อ อย่างแรกคือเรื่องนี้มีพล็อตเรื่องที่ดีมากๆ เป็นเรื่องลึกลับให้ความรู้สึกตื่นเต้น ทำให้คนอ่านได้คิดไขปัญหาอยู่ตลอด เพราะเวลาอ่านไม่สามารถเดาได้ถูกเลยว่าตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ในแต่ละตอนแต่ละเล่มต่างมีจุดพลิกมุมที่น่าติดตาม ที่เราคิดว่าเป็นตัวร้ายตั้งแต่แรกจะเป็นอย่างไร จะใช่หรือเปล่า อย่างตอน ‘ศิลาอาถรรพ์’ เล่มแรก คนที่ใจร้ายที่สุดกลับเป็นควีเรลล์ไม่ใช่สเนป หรือตอน ‘ห้องแห่งความลับ’ เล่มที่สอง ใครจะไปคาดคิดว่าไดอารี่นี่แหละที่เป็นตัวปัญหา และตอน ‘นักโทษแห่งอัซคาบัน’ ในเล่มที่สาม ใครจะไปคิดว่านักโทษที่แหกคุกออกมาจะเป็นตัวดี
อย่างที่สองต้องยกให้ตัวละคร เพราะคาแรคเตอร์ของตัวละครมีหลากหลาย แต่ละตัวมีจุดเด่นที่น่าสนใจ ไม่ได้เรียบๆ ชืดๆ แม้จะเป็นตัวละครที่เป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้ดีพร้อม อย่างแฮร์รี่ก็ช่างเป็นคนหุนหันพลันแล่น บ้าบิ่น และไม่ฟังคำสั่งใคร ครูเตือนแล้วก็ไม่ฟัง จึงทำให้เกิดเรื่องร้ายๆ ตั้งหลายหน ส่วนเฮอร์ไมโอนี่ก็จุ้นจ้าน ทำอะไรต้องมีเหตุผล บางครั้งก็ทำให้น่ารำคาญ รอนเองก็ขี้ใจน้อยเพราะครอบครัวมีคนเยอะ เขาก็ต้องแข่งขันกับพี่ชายเพื่อแย่งความรักจากแม่ ซึ่งในแต่ละตัวละครมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เรียกได้ว่า เจ.เค.สร้างตัวละครได้สมจริง
อย่างที่สามคือมีจินตนาการที่เลอเลิศ มีสัตว์ประหลาดต่างๆ มากมาย มีเกมควิดดิชที่น่าสนุกสนาน ช่วยเปิดโลกของจินตนาการให้กว้างออกไปอย่างคิดไม่ถึง จึงทำให้หนังสือยิ่งอ่านยิ่งสนุก อย่างที่สี่คือมีอารมณ์ขัน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่น่าตื่นเต้นหรือน่ากลัวอย่างไรก็จะแทรกอารมณ์ขันไว้อยู่ด้วย ไม่แปลกใจเลยถ้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้อ่านแล้วจะชอบหนังสือเรื่องนี้
>ชอบตัวละครตัวไหนมากที่สุด
จริงๆ แล้วก็ชอบอยู่หลายตัวเพราะต่างมีข้อดีน่ารักๆ อยู่ในตัวเอง แต่ที่ชอบมากที่สุดก็เป็น ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ (หัวเราะ) เพราะน่ารัก เขาเป็นคนที่รักเพื่อนแล้วก็ไม่หลงตัว แม้ว่าเขาจะเป็นคนเก่ง แต่เขาก็จะคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งจริง คิดไปว่ามีโชคช่วย ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ มีความเป็นผู้นำโดยไม่กดขี่ข่มเหงคนอื่น และยังชอบช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน มีน้ำใจดี ส่วนเฮอร์ไมโอนี่ชอบเพราะเธอเก่งเหลือเกิน รอนเองเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน ดัมเบิลดอร์ต้องใช้คำว่าศรัทธา เพราะเป็นคนดีจริงๆ สเนปเองก็เป็นตัวละครที่นิสัยแปลก เดาไม่ค่อยได้ว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นยังไง จุดนี้ก็เป็นสีสันของเรื่องทำให้เรื่องอ่านสนุก
>เคยได้พบกับ ‘เจ.เค. โรว์ลิ่ง’ บ้างไหม
เคยมีโอกาสได้พบและคุยกันเมื่อครั้งที่ตัวแทนของ เจ.เค. จัดงาน International Publishers of Harry Potter ซึ่งตอนนั้นเขาเชิญทางสำนักพิมพ์ให้ไปร่วมงานกับเขาเท่านั้น ไม่ได้เชิญนักแปล แต่คุณสุวดีบอกให้ดิฉันไปร่วมงานด้วยกัน เพราะไหนๆ ก็อยู่ที่อังกฤษอยู่แล้ว จึงได้ไปร่วมงานที่ลอนดอน ตอนเจอกับเธอครั้งนั้นบอกเธอไปว่าคนไทยชอบอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์กันมาก เจ.เค.ก็ยิ้มรับ แล้วดิฉันมีโอกาสถามเธอว่าทำไมถึงมีความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ต่างๆ มากขนาดนี้ เจ.เค.เลยเล่าให้ฟังว่าเป็นเพราะตอนเด็กๆ ได้อ่านหนังสือมาก พ่อแม่มักแนะให้อ่านหนังสืออยู่เสมอ ทีนี้มันเป็นหนังสือภาพเลยทำให้อ่านแล้วจำได้
จากนั้นดิฉันก็ถาม เจ.เค.อีกว่าโยงตัวละครให้มีความสำคัญได้อย่างไร อย่างซีเรียส แบล็คที่มีชื่อปรากฏให้เห็นอยู่บรรทัดเดียวในตอน ‘ศิลาอาถรรพ์’ ทำไมถึงกลับมาอีกครั้งได้อย่างมีความสำคัญมากๆ ในเล่ม 3 ตอน ‘นักโทษแห่งอัซคาบัน’ ซึ่ง เจ.เค.ตอบกลับมาว่าเธอคิดพล็อตเรื่องเอาไว้หมดแล้วทั้ง 7 ตอน วางทุกตัวละครไว้พร้อมเสร็จสรรพก่อนที่จะลงมือเขียนเล่มหนึ่ง ดังนั้นเขาจะรู้ว่าตัวละครไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ จะเดินเรื่องต่อไปได้อย่างไร ทั้งหมดเป็นเพราะเธอใช้เวลาอยู่กับเรื่องนี้มานานมากๆ เลย ต้องคิดและจำให้ได้ทุกรายละเอียด เลยทำให้ดิฉันทราบว่าเธอรู้จักตัวละครแต่ละตัวในเรื่องเป็นอย่างดี จึงสามารถสร้างภาพให้ตัวละครได้
>ส่วนตัวมีเทคนิคหรือวิธีการแปลให้สนุกอย่างไรบ้าง
เริ่มแรกต้องอ่านทั้งเล่มให้จบก่อน ตั้งแต่บทที่หนึ่งถึงบทสุดท้าย ครั้งแรกอ่านจับใจความเรื่องอย่างเร็วๆ ครั้งที่สองถึงจะอ่านช้าๆ เอาความของเรื่อง พร้อมกับจดไปด้วยว่าศัพท์ไหนควรจะแปลยังไงก็จะคิดไว้อยู่ในใจ ศัพท์ไหนที่ไม่รู้ก็จะจดเอาไว้แล้วเปิดพจนานุกรมเพื่อหาความหมาย คือถ้าแปลหนังสือของอังกฤษก็จะใช้พจนานุกรมที่เป็นอังกฤษ ถ้าแปลหนังสือของอเมริกาก็ใช้พจนานุกรมที่เป็นอเมริกัน เพราะศัพท์บางคำจะแตกต่างกัน มีความหมายไม่เหมือนกัน อย่างเช่นคำว่า ‘กระโปรงรถ’ อเมริกันใช้คำว่า ‘hood’ แต่ทางอังกฤษจะใช้คำว่า ‘bonnet’ จึงจำเป็นมากที่ต้องใช้พจนานุกรมให้ตรงกับเจ้าของภาษาในการทำงานแปล
พอหาคำศัพท์ได้ครบแล้วก็ลงมือแปลและเมื่อแปลเสร็จครบ 5 บทก็จะกลับมาอ่านทวนแก้ไขอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงลงมือแปลอีก 5 บท จากนั้นก็จะกลับมาอ่านทวน 5 บทแรกใหม่อีกครั้ง ก่อนจะส่งให้ทางบรรณาธิการช่วยตรวจทานแก้ไข พอทางบรรณาธิการแก้ไขเสร็จก็จะส่งกลับมาให้อ่านอีกครั้งว่าได้แก้ตรงไหนไปบ้าง เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าดิฉันไม่เห็นด้วยก็จะส่งกลับมาให้แก้ใหม่ แต่ถ้าอ่านแล้วโอเค เรื่องก็ผ่าน
>ตลอดทั้งเรื่องที่ได้แปลมา มองว่าจุดไหนแปลความให้เป็นภาษาไทยยากที่สุด
ยากที่สุดคงจะเป็นมุกตลก เพราะการแปลมุกตลกของฝรั่งให้เป็นมุกตลกไทยถือได้ว่ายากมาก ซึ่งบางทีเขาใช้สำนวนหรือภาษาไม่เหมือนภาษาไทย พอแปลออกมาแล้ว ไม่ขำก็มี เลยต้องคิดหนักมาก ดังนั้นพอเจอมุกตลกก็จะแปลมาก่อน จากนั้นบรรณาธิการจะช่วยดูให้อีกทีว่าจะแก้มุกให้อ่านเข้าใจได้อย่างไร อย่างเรื่องเศร้าหรือศัพท์สแลงยังพอถามจากเพื่อนบ้านได้ แต่กับมุกตลกนั้นแปลยากจริงๆ
>เรื่องระดับของภาษาเป็นปัญหาในการแปลบ้างไหม
การแปลจำเป็นต้องพยายามสรรหาคำให้เทียบเท่ากับระดับภาษาต้นฉบับอยู่เหมือนกัน โดยทั่วไปแล้ว เจ.เค.เองจะใช้ศัพท์เรียบๆ ง่ายๆ ไม่ได้ใช้ศัพท์แปลก อาจจะมีใช้คำสแลงบ้าง ดังนั้นเวลาแปลก็ต้องเลือกศัพท์ให้ได้ใกล้เคียงกัน อย่างคำสแลง ‘nick’ ที่แปลว่าขโมย เจ.เค.ไม่ใช้คำว่า ‘steal’ ต้องคิดถึงคำสแลงในภาษาไทยที่มีความหมายกับคำว่าขโมยออกมา ก็ได้เป็นคำว่า ‘จิ๊ก’ หรือตัวอย่างที่แม่หนูทอมในเรื่อง เวลาทักแฮร์รี่ก็จะไม่ทักว่า ‘hello’ แต่จะทักสั้นๆ ว่า ‘wotcher’ ซึ่งเทียบได้กับคำว่า ‘หวัดดี’ ในภาษาไทย
>ความยากง่ายในการแปลแต่ละเล่มแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
เล่มแรกๆ จะถือว่าแปลได้ยากกว่า เพราะต้องคิดคำศัพท์ของพวกพ่อมดแม่มดทั้งหลายที่ผู้เขียน เจ.เค. โรว์ลิ่งพิถีพิถันเสกสรรขึ้น เล่มแรกๆ จึงต้องใช้เวลาคิดค่อนข้างมาก เพราะเป็นศัพท์ที่ไม่มีในพจนานุกรม แต่พอแปลเล่ม 7 ก็จะเป็นคำศัพท์ที่มีอยู่ในเล่มก่อนหน้า ดิฉันก็ไม่ต้องใช้เวลาคิดศัพท์ต่างๆ มากแล้ว แปลได้ฉุยเลย เพราะสามารถหยิบศัพท์ที่แปลไว้แล้วในเล่มก่อนๆ มาใช้ได้เลย ทำให้แปลว่องไว เล่ม 7 จึงถือว่าเป็นเล่มที่แปลได้เร็วที่สุด พอได้หนังสือมาเมื่อ 21 กรกฎาคมก็ลงมือแปลทันทีจนเสร็จสิ้นสุดเมื่อ 15 กันยายน
>เคยรู้สึกเครียดบ้างไหมที่ต้องทำให้แข่งกับเวลา
ไม่เครียดหรอก เรียกว่าเพลียเสียมากกว่า เพราะต้องใช้สมองทำงานมากกว่าปกติ ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอด บางครั้งถึงเวลานอนแล้วก็ยังนอนไม่หลับ เนื่องจากยังคิดศัพท์ได้ไม่ถูกใจ ถ้าตอนนอนคิดได้ก็ต้องจดเอาไว้กันลืม แต่บางคืนถ้าเพลียมากก็นอนหลับสนิทเลย
>จำเป็นหรือไม่ว่าในการแปลต้องมีพื้นฐานการใช้ทักษะภาษาไทยที่ดีด้วย
จำเป็นมากๆ ไม่ว่าใครมาถามว่าอยากทำงานแปลต้องทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไรบ้างจะบอกเลยว่าต้องเก่งภาษาไทยมากๆ ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีใช้ได้ ต้องรู้จักใช้คำ รู้จักวิธีการใช้ภาษา ถ้ามีเวลาหัดเขียนด้วยก็ดี เพราะการเขียนมากๆ จะยิ่งทำให้เขียนได้คล่อง ซึ่งต้องพยายามอ่านหนังสือเยอะๆ จะได้มีคลังคำศัพท์ทางภาษาไทยให้เลือกใช้ได้ และจะอ่านหนังสือประเภทไหนก็ได้ ถ้าชอบนิยายก็อ่านนิยายแล้วก็แปลนิยาย ถ้าชอบเรื่องสารคดีก็ทำงานแปลสารคดี แต่การจะเป็นนักแปลที่ดีควรจะอ่านให้กว้างๆ ให้ทั่วๆ หนังสือพิมพ์ก็จำเป็นต้องอ่านด้วย จะได้รู้จักศัพท์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น
>เมื่อแฮร์รี่ พอตเตอร์อวสานลงแล้วต่อจากนี้จะมีงานเขียนเองหรือแปลเล่มอื่นๆ ออกมาอีกไหม
งานแปลที่ผ่านไปแล้วก็มี ‘ล็อตตี้ รายงานนี้ฝีมือหนูเอง’ และนิทานชื่อว่า ‘เรื่องเล่าก่อนเข้านอน’ ส่วนเรื่องสั้นในอนาคตที่เขียนเก็บไว้ก็มีเรื่อง ‘ม็อก แมวมหัศจรรย์’ ที่เขียนเองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นวนิยายที่ตีพิมพ์แล้วก็มีเรื่อง รวงรัก, ลมปราณกับความรัก และรักสองแดน สำหรับเรื่องที่กำลังตีพิมพ์แล้วจะวางตลาดเร็วๆ นี้ชื่อ ‘ปริศนาหน้าร้อน’ เป็นงานวรรณกรรมสำหรับเด็ก